ลงทุนอย่างมีสไตล์

ในโลกการลงทุนมีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่มากมาย ซึ่งนักลงทุนทั้งหลายเหล่านี้อาจมีแนวคิด และวิธีปฏิบัติที่อาจเหมือน หรือแตกต่างกันแบบสุดขั้วก็ได้ แท้จริงแล้วการลงทุนในหุ้นนั้นมีรูปแบบการลงทุน (Styles) ที่นำไปสู่ความสำเร็จที่หลากหลาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน ได้จำแนกรูปแบบการลงทุนที่หลากหลายนี้ให้เป็นหมวดหมู่ต่างๆเพื่อให้ง่ายแก่ศึกษาและเข้าใจ วันนี้จึงจะขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับการลงทุนในหุ้น ในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนคำแนะนำ และข้อเสนอแนะ ที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์แก่การลงทุนของท่านผู้อ่านในอนาคต

การลงทุนเชิงรับ (Passive)

การลงทุนแบบเชิงรับ หมายถึง กลยุทธ์การลงทุนบริษัท ฯ มีเป้าหมายที่จะ สร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับ ผลตอบแทน ของตลาด โดยการลงทุนใน หุ้นที่ ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก ของหุ้น ในดัชนีอ้างอิง (เช่น SET Index) ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องมือทางการลงทุน ที่เอื้อแก่การลงทุนแบบเชิงรับนี้มากมาย เช่น กองทุนรวมดัชนี (Index Fund) กองทุนรวมดัชนีอีทีเอฟ (Exchange traded fund) หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

รูปแบบการลงทุนนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสมมุติฐานตลาดมีประสิทธิภาพ (Efficient market hypothesis) ที่ระบุว่าราคาหุ้นสามารถปรับตัวสะท้อนกับ การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่มีผลกระทบกับมูลค่าของบริษัททั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต (ที่สามารถพยากรณ์ได้) ได้อย่างรวดเร็วจนอาจกล่าวได้ว่า ราคาหลักทรัพย์ ที่มีอยู่ใน ราคา ปัจจุบัน ที่เหมาะสม ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงของราคา ในอนาคตจะ ขึ้นอยู่กับ การเปลี่ยนแปลงของ ปัจจัยต่างๆที่ไม่อาจคาดเดาได้ ดังนั้นความพยายามที่จะหาหลักทรัพย์ที่มูลค่าต่ำกว่าหรือสูงกว่าราคาที่เหมาะสมนั้นไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการลงทุนได้ในตลาดที่มีประสิทธิภาพ และไม่มีนักลงทุนผู้ใดที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดได้อย่างสม่ำเสมอในระยะยาว ซึ่งแนวคิดการลงทุนแบบเชิงรับนี้ได้รับ การสนับสนุนจาก สมมุติฐานทางการเงิน และงานวิจัยมากมาย

ด้วยเหตุนี้การลงทุนแบบเชิงรับจึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การคัดสรรหุ้น หรือสรรหากลยุทธ์การลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่น หากแต่มุ่งเน้น การเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนไปที่การลดต้นทุนในการบริหารจัดการ เช่น ค่านายหน้า ภาษี ค่าใช้จ่ายในการทำบทวิเคราะห์ และเวลาที่ใช้ใน การบริหารจัดการ ซึ่งเป็นจุดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับการบริหารแบบเชิงรุก

นักลงทุนที่เน้นการลงทุนแบบเชิงรับจึงควรใช้เวลา และให้ความสำคัญกับการกระจายการจัดสรรทรัพย์สินลงทุน (Asset allocation) ให้มากที่สุด โดยให้ตั้งเป้าหมายการลงทุนและระยะเวลาลงทุนที่ชัดเจน เช่น ผลตอบแทนที่คาดหวัง ความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ ระยะเวลาการลงทุน สภาพคล่องที่ต้องการในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น จากนั้นจึงจัดสรรน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ เพื่อให้เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนที่ตั้งไว้ข้างต้น แล้วปล่อยให้การลงทุนในหุ้นเป็นหน้าที่ของกองทุนรวม ที่มีนโยบายการลงทุนแบบเชิงรับต่างๆ ซึ่งมีข้อได้เปรียบในแง่ค่าธรรมเนียมและต้นทุนการบริหารที่ต่ำกว่าเป็นผู้จัดการแทน

การลงทุนเชิงรุก (Active)

การลงทุนแบบเชิงรุกหมายถึงการลงทุนที่ตั้งเป้าหมายจะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าผลตอบแทนของตลาด หรือในอีกแง่หนึ่งการลงทุนแบบเชิงรุก อาจมีเป้าหมายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงให้ต่ำกว่าตลาด การลงทุนในเชิงรุกนสามารถแตกแขนงย่อยไปเป็นรูปแบบการลงทุนย่อยๆได้อีกมากมาย เช่น การลงทุนแบบเน้นคุณค่า การลงทุนแบบเน้นการเติบโต ฯลฯ ซึ่งมีความแตกต่างกันในรายละเอียดค่อนข้างมาก

การลงทุนในรูปแบบเชิงรุกตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าตลาดไม่ได้มีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา (Inefficient market) นักลงทุนสามารถหาหุ้นที่มีตลาด ประเมินมูลค่าที่แท้จริงผิดพลาดไปได้ (Mispricing) และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดในระยะยาวได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น การซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า มูลค่าที่เหมาะสม และขายหุ้นที่มีราคาสูงกว่ามูลค่าที่เหมาะสม ซึ่งวิธีการระบุมูลค่าที่เหมาะสมนี้อาจแตกต่างกันไป สำหรับนักลงทุนเชิงรุกที่มีรูปแบบต่างๆกัน เช่น นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าอาจระบุมูลค่าที่เหมาะสมโดยให้ความสำคัญกับ P/E ratio ในขณะที่นักลงทุนเชิงรุก ที่เน้นการเติบโตอาจกำหนดมูลค่า ที่เหมาะสม โดยเน้นที่อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ เป็นต้น การลงทุนแบบเชิงรุกนี้ ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนที่ประสบความเร็จในการลงทุน ในตลาดหุ้นมากมาย อาจกล่าวได้ว่า นักลงทุนที่มีชื่อเสียงทุกรายล้วนมากจากแนวทางการลงทุนแบบเชิงรุกทั้งสิ้น ด้วยเหตุที่การลงทุนแบบเชิงรุก มีรูปแบบและรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย นักลงทุนที่เชื่อมั่นในการบริหารแบบเชิงรุกจึงควรทำความเข้าใจกับการลงทุนเชิงรุกในแบบต่างๆ และเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับลักษณะของนักลงทุนแต่ละบุคคล

การลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investing)

การลงทุนแบบเน้นคุณค่านี้มีพื้นฐานมาจากแนวคิดการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของเบนจามิน แกรแฮม และเดวิด ดอจจ์ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่เน้นการลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานซึ่งอ้างอิงจากอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เช่น อัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์สุทธิ (P/E) อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B) อัตราเงินปันผลตอบแทนที่ (Dividend yield) เป็นต้น โดยเชื่อว่าในระยะยาวราคาหุ้นจะปรับตัวเข้าสู่มูลค่าพื้นฐาน (Fundamental Value) การลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานจึงมีโอกาสกำไรมากกว่าขาดทุน แนวคิดของการลงทุนแบบเน้นคุณค่านี้ได้สร้างชื่อเสียง ให้กับนักลงทุนระดับโลก อาทิ วอร์เรน บัพเฟต จอห์น เทมเพิลตัน จอห์น เนฟฟ์ เป็นต้น และการลงทุนแบบเน้นคุณค่านี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก งานวิจัยเชิงวิชาการมากมาย

การลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะมุ่งเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท เพื่อค้นหามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวมากกว่าการวิเคราะห์ทิศทางของตลาดหุ้น นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะแสวงหาหุ้นที่มีราคาต่ำจนน่าสนใจ ซึ่งอาจถูกระบุด้วยอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เช่น หุ้นที่มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ ต่ำกว่าตลาด หรืออัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่ำกว่าตลาด เป็นต้น หุ้นเหล่านี้มักเป็นหุ้นที่ไม่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนทั่วไป เช่น หุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่อิ่มตัว หุ้นที่มีผลการดำเนินขึ้นอยู่กับวัฎจักรทางเศรษฐกิจ หรือหุ้นที่กำลังประสบปัญหา ฯลฯ แล้วรอจนตลาดเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อหุ้นเหล่านั้น ผลักดันให้ราคาหุ้นปรับตัวเข้าสู่มูลค่าพื้นฐานดังกล่าวจึงขายทำกำไร

นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะศึกษาบริษัทจดทะเบียนต่างๆโดยละเอียด และประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวด้วยวิธีต่างๆ เช่น วิธีคิดลดกระแสสด (Discount cash flow) วิธีเปรียบเทียบอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิกับตลาด เป็นต้น จากนั้นรอจนกระทั่งระดับราคาของหุ้นเหล่านี้ปรับตัวลดลงสู่ระดับราคาที่เหมาะสมจึงเข้าลงทุนเพื่อให้ได้ผลอตอบแทนที่ต้องการ นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะขายหุ้นออกไปเมื่อราคาปรับตัวสูงเกินกว่ามูลค่าที่เหมาะสม หรือเมื่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้มูลค่าที่เหมาะสมของบริษัทปรับตัวลดลงจนอยู่ในระดับไม่น่าดึงดูดใจ เพื่อเตรียมเงินเอาไว้สำหรับการลงทุนในครั้งต่อไป

การลงทุนเน้นการเติบโต (Growth Investing)

การลงทุนแบบเน้นการเติบโตเป็นการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับหุ้นที่มีเรื่องราวของการขยายกิจการ การควบรวมกิจการ การเข้าซื้อกิจการ หรือการเข้าประมูลโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทในกลุ่มดังกล่าวจะมีอัตราการเติบโตของยอดขาย หรือกำไรสุทธิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด แม้ว่าหุ้นดังกล่าวอาจมีราคาแพงเมื่อพิจารณาในแง่ของอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ หรืออัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีก็ตาม

นักลงทุนที่เน้นการเติบโตจะมุ่งแสวงหาหุ้นที่มีประวัติการเติบโตของกำไรสุทธิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังมีโอกาสรักษาอัตราการเติบโตให้อยู่ในระดับสูงได้ต่อไปในอนาคต หุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่มักอยู่ในอุตสาหกรรมที่เกิดใหม่ อุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต หรืออุตสาหกรรมที่เพิ่งฟื้นตัวจากปัญหา (Turn around) เมื่อบริษัทประกาศผลประกอบการที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด จะส่งผลให้อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ดีขึ้น เช่น อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิของหุ้นลดลง (เนื่องจากกำไรสุทธิมากขึ้น ทำให้อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิลดลง) และจะดึงดูดนักลงทุนรายใหม่เข้ามาให้ความสนใจกับหุ้นเหล่านี้มากขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นโตเร็วเหล่านี้สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นไปได้อีก ถ้าบริษัทดังกล่าวสามารถรักษาการเติบโตของกำไรสุทธิให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน กำไรและราคาหุ้นก็จะยิ่งเพิ่มพูนเป็นเท่าทวี อย่างไรก็ดีหากบริษัทไม่สามารถสร้างการเติบโตของผลกำไรได้ตามที่ตลาดคาดการณ์หรือประสบกับข่าวร้ายที่มีนัยสำคัญ จนทำให้นักลงทุนหมดศรัทธาในความสามารถการเติบโตของบริษัท ราคาของหุ้นโตเร็วเหล่านี้ก็อาจปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว และสร้างผลขาดทุนมหาศาลให้กับนักลงทุนได้

ด้วยเหตุนี้การลงทุนแบบเน้นการเติบโตนี้จึงควรพิจารณาความเหมาะสมของราคาควบคู่ไปด้วย เพื่อให้แน่ใจว่านักลงทุนกำลังยอมจ่าย “แพง” เพื่อให้ได้รับอัตราการเติบโตที่สมเหตุสมผล โดยนักลงทุนอาจใช้อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อการเติบโต (PEG – Price to earning to growth) ซึ่งหาได้จากการนำเอาอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิไปหารด้วยอัตราการเติบโตของบริษัท แล้วนำอัตราส่วนดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับตลาดหรือค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน

การลงทุนตามกระแส (Momentum Investing)

การลงทุนแบบตามกระแสนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่ามนุษย์มีพฤติกรรมแห่ตามกัน (Herding) เป็นพื้นฐาน ในเชิงจิตวิทยานั้นพฤติกรรมของมนุษย์มีแนวโน้มที่จะคล้อยตามคนส่วนใหญ่มากกว่าขัดแย้ง ในด้านการลงทุนนักลงทุนมักรู้สึกสบายใจกว่าในการซื้อหุ้นที่ตลาดกำลังไล่ซื้อ หรือหุ้นเด็ดที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ เปรียบเทียบกับหุ้นที่นักลงทุนในตลาดไม่รู้จัก หรือหุ้นที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึง การลงทุนในรูปแบบนี้จึงเน้นหุ้นที่กำลังอยู่ในความสนใจของตลาด ซึ่งหุ้นดังกล่าวอาจเป็นหุ้นโตเร็ว หุ้นที่อยู่ในวัฏจักรธุรกิจขาขึ้น หุ้นที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด หุ้นเก็งกำไร หรือหุ้นที่มีสัญญาณซื้อทางเทคนิคก็ได้
เมื่อหุ้นตัวหนึ่งเริ่มปรับตัวขึ้นจะกระตุ้นความสนใจของนักลงทุนส่วนหนึ่งให้มาซื้อหุ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น และดึงดูดความสนใจของนักลงทุนรายใหม่เข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นไปได้อีกเป็นวัฎจักรขาขึ้นเช่นนี้เรื่อยไป จนกระทั่งนักลงทุนส่วนหนึ่งเริ่มระลึกได้ว่าราคาของหุ้นแพงเกินจริง หรือมีข่าวร้ายที่มีนัยสำคัญมากระทบ และเริ่มขายหุ้นออกมาจนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลง ซึ่งอาจกระตุ้นให้นักลงทุนคนอื่นๆที่ถือหุ้นดังกล่าวอยู่ขายหุ้น และกดดันให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปอีกจนกระทั่งก่อเป็นกระแสในขาลง
ลักษณะเด่นประการหนึ่งของหุ้นที่กำลังอยู่ในกระแสขาขึ้นคือ นักลงทุนจะตีความข้อมูลทางเศรษฐกิจ หรือข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับหุ้นเหล่านั้นไปในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ ข่าวร้ายที่มากระทบจะถูกเพิกเฉย ส่วนข่าวดีจะได้รับการตีความไปในทางดีจนเกินจริง ทำให้ราคาหุ้นที่อยู่ในกระแสสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางตลาดไปได้เรื่อยๆ จนกว่ากระแสของหุ้นจะเปลี่ยนเป็นขาลง ลักษณะเด่นข้อนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในทางตรงกันข้ามด้วยเช่นกัน
เนื่องจากการลงทุนแบบตามกระแสนี้อาจให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจยิ่ง หรือให้ผลเลวร้ายอย่างคาดไม่ถึงก็ได้ ขึ้นอยู่กับนักลงทุนจะสามารถเข้าใจวัฏจักรของหุ้นที่ลงทุนได้อย่างถูกต้องหรือไม่ นักลงทุนแบบตามกระแสจึงควรให้ความสำคัญกับวัฏจักรดังกล่าว และเฝ้าติดตามปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสอย่างใกล้ชิด เช่น ผลประกอบการของบริษัท ทิศทางของอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือแนวโน้มเชิงเทคนิค เป็นต้น ทั้งนี้นักลงทุนจะต้องตอบสนองให้ทันท่วงที เมื่อเชื่อว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นนัยสำคัญจนทำให้กระแสหุ้นเปลี่ยนทิศไป ดังคำกล่าวที่ว่า “เกาะติด โดดทัน” นั่นเอง

การลงทุนสวนกระแส (Reversal Investing)

การลงทุนแบบสวนกระแสนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า การเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งจะมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ค่ากลางเสมอ (Mean reverting process) ดังนั้นหุ้นทุกตัวจึงมีวัฏจักรขึ้นลงสลับสับเปลี่ยนกันไป แต่ในระยะยาวแล้วราคาหุ้นทุกตัวจะกลับเข้าสู่ค่ากลางเสมอ การลงทุนแบบสวนกระแสจึงเน้นลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจของตลาด แต่มีแนวโน้มว่าหุ้นดังกล่าวจะกลับมาสู่ความสนใจของตลาดอนาคต
นักลงทุนแบบสวนกระแสจะแสวงหาอุตสาหกรรมที่อยู่นอกความสนใจของตลาดในปัจจุบัน แต่มีแนวโน้มจะกลับมาอยู่ในวัฏจักรขาขึ้นในไม่ช้า จากนั้นจึงศึกษาเพื่อหาบริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งซึ่งจะอยู่รอดในช่วงที่อุตสาหกรรมซบเซา (ในขณะที่บริษัทคู่แข่งล้มหายตายจาก) และได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ จากนั้นลงทุนในระดับราคาที่เชื่อว่าตลาดได้ละเลยหุ้นดังกล่าวไปแล้วโดยสิ้นเชิง แล้วรอจนอุตสาหกรรมนั้นฟื้นตัวและกลับเข้ามาอยู่ในความสนใจของตลาดอีกครั้ง เพื่อรอขายหุ้นในระดับราคาที่พอใจขณะที่นักลงทุนอื่นๆในตลาดกำลังไล่ซื้อหุ้นนั่นเอง
นักลงทุนแบบสวนกระแสจำเป็นต้องปล่อยวางต่อการเคลื่อนไหวของภาวะตลาดในระยะสั้น และเพิกเฉยต่อการปลุกเร้าของสื่อในช่วงตลาดขาขึ้นและขาลง เพื่อรอโอกาสที่เข้าลงทุนในระดับราคาที่เหมาะสม (ซึ่งโอกาสเช่นนี้ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา และมักไม่อยู่ในภาวะตลาดที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไล่ซื้อหุ้น) ทำให้บางครั้งนักลงทุนแบบสวนกระแสอาจถือครองเงินสดในขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเข้าซื้อหุ้นในขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังเบื่อหน่ายตลาดหุ้นถึงขีดสุด ซึ่งจะแตกต่างจากการลงทุนแบบตามกระแสที่นักลงทุนมักมีสถานะเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นสถานะซื้อหรือขายชอร์ต (Selling short) เนื่องจากเชื่อว่าเขาเหล่านั้นสามารถจับกระแสตลาดหรือหุ้นแต่ละตัวได้อย่างถูกต้องตลอดเวลานั่นเอง
กล่าวโดยสรุปการลงทุนแบบสวนกระแสนี้นักลงทุนจำเป็นต้องอาศัยความอดทน เพราะการรอให้ตลาดเปลี่ยนความสนใจจากอุตสาหกรรมที่กำลังร้อนแรง ไปสู่อุตสาหกรรมที่ตลาดไม่ได้ให้ความสนใจในขณะนั้นจำเป็นต้องอาศัยเวลาซึ่งไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ นักลงทุนอาจจำเป็นต้องแบกรับผลขาดทุนในช่วงแรกเป็นปีๆ หรืออาจเป็นสิบปี ก่อนที่การลงทุนนั้นจะผลิดอกออกผลอย่างน่าพิศวง ด้วยเหตุนี้การลงทุนแบบสวนกระแสนี้จึงไม่เหมาะกับนักลงทุนที่มีระยะเวลาการลงทุนที่สั้น หรือต้องเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนกับดัชนีอ้างอิง

ในครั้งก่อนๆได้แนะนำแนวทางการลงทุนแบบเชิงรับและเชิงรุกในรูปแบบต่างๆให้นักลงทุนได้รู้จักไปมากพอสมควรแล้ว ในครั้งสุดท้ายนี้จะขอนำเสนอคำแนะนำที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนที่สนใจในแนวทางบริหารการลงทุนรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้

รู้จักตัวเอง

นักลงทุนควรทำความเข้าใจกับตัวตนที่แท้จริงของตนเองให้มากที่สุดก่อนการตัดสินใจลงทุนใดๆ คุณต้องการผลตอบแทนเท่าไร? คุณรับผลขาดทุนได้แค่ไหน? คุณมีระยะเวลาลงทุนนานเพียงใด? ต้นทุนเงินทุนของคุณอยู่ที่เท่าไร? คุณมีเวลาติดตามการลงทุนของคุณมากน้อยเพียงใด? คุณมีความมั่นคงในความคิดของคุณมากน้อยแค่ไหน? อุปนิสัยของคุณเป็นเช่นไร? การรู้จักตัวเองนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะนำไปสู่รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนแต่ละคนซึ่งอาจเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างมากก็ได้

เลือกรูปแบบที่ “ใช่”

เมื่อคุณรู้จักตัวเองดีพอแล้ว ก็ถึงคราวที่ต้องเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของตัวคุณ โดยนักลงทุนอาจพิจารณาข้อเสนอแนะต่อไปนี้เป็นแนวทางในเบื้องต้น

ถ้านักลงทุนเชื่อมั่นในงานวิจัยที่สนับสนุนว่าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพ ไม่มีใครสามารถเอาชนะตลาดในระยะยาวได้ เชื่อว่าการลงทุนในหุ้นเป็นเพียงการรับผลตอบแทนแบบสุ่ม (Random walk) ไม่มีเวลามากพอที่จะศึกษาบริษัทจดทะเบียนที่มีอยู่มากมาย หรือไม่อยากวุ่นวายกับการปรับเปลี่ยนพอร์ตหุ้นไปตามสถานการณ์ การลงทุนแบบเชิงรับ ดูจะเหมาะสมกับนักลงทุนมากที่สุด

หากนักลงทุนเป็นคนเชื่อว่าตนมีความสามารถในการวิเคราะห์ความเป็นไปของธุรกิจได้ดีกว่านักลงทุนทั่วไป ยึดมั่นในการวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริงของกิจการและเชื่อว่าในระยะยาวแล้วตลาดจะมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของหุ้นเสมอ ชอบลงทุนในหุ้นโดยให้ความสำคัญกับความคุ้มค่ามากกว่าความคาดหวังการเติบโต และมีเวลามากพอที่จะรอให้เงินลงทุนของคุณเติบโตโดยไม่มีปัจจัยใดที่จะมาเร่งเร้าการตัดสินใจได้ การลงทุนแบบเน้นคุณค่า น่าจะเป็นทางเลือกที่ “ใช่” สำหรับนักลงทุน

ถ้านักลงทุนเชื่อว่ามีความสามารถในการวิเคราะห์วัฎจักรของการเติบโตของอุตสาหกรรมได้อย่างถูกต้อง มองเห็นศักยภาพในการเติบโตของบริษัทที่โดนเด่น ยอมจ่ายแพงได้เพื่อบริษัทที่มีคุณภาพคู่ควร ชอบการลงทุนที่ออกดอกผลได้รวดเร็วจับต้องได้ การลงทุนแบบเน้นการเติบโต อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม

ถ้านักลงทุนชื่นชอบการติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดอย่างใกล้ชิด เชื่อมั่นว่าสามารถคาดการณ์การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นได้อย่างแม่นยำ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง และรวดเร็วกว่านักลงทุนทั่วๆไป สามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดในภาวะแวดล้อมที่กดดัน ต้องการผลตอบแทนที่โดดเด่นในระยะเวลาอันสั้นหรือต้องการเปรียบเทียบผลตอบแทนกับดัชนีอ้างอิง การลงทุนแบบตามกระแส น่าจะเข้ากับนักลงทุนได้ที่สุด

ถ้านักลงทุนเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง มีความคิดที่เป็นอิสระและแน่วแน่เพียงพอที่จะขัดแย้งกับความเห็นของนักลงทุนทั้งตลาดได้ พึงพอใจที่จะศึกษาธุรกิจของบริษัทต่างๆ ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งข่าวสารทางสื่อต่างๆ หรือบทวิจัยของนักวิเคราะห์ ต้องการข้อมูลเชิงลึกอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจ และสามารถอดทนรับผลขาดทุนในระยะสั้นเพื่อผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาวได้ การลงทุนแบบสวนกระแส น่าจะคำตอบที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุน

ในโลกของการลงทุนมีวิธีการลงทุนให้ประสบความสำเร็จมากมายไม่ได้จำกัดอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น (หากในโลกการลงทุนมีรูปแบบการลงทุนที่ทำตามแล้วประสบความสำเร็จทุกคน นักลงทุนทุกคนก็คงรวยกันหมดและไม่มีใครขาดทุน) การเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมจึงเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุน เพราะนักลงทุนแต่ละคนมีพื้นเพ ลักษณะนิสัย ระยะเวลาการลงทุน และข้อจำกัดการลงทุนที่แตกต่างกันไปรูปแบบการลงทุนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน การพยายามลงทุนตามแบบนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จโดยไม่พิจารณาความแตกต่างของตนกับต้นแบบอาจนำไปสู่ความล้มเหลวได้ (คุณอาจลงทุนตามแบบ วอร์เรน บัฟเฟต์ ได้ แต่สุดท้ายแล้วคุณก็ไม่ใช่เขา และคุณก็ไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงเวลาเดียวกับเขา ความสำเร็จของบัฟเฟต์จึงไม่อาจทำได้ด้วยการเลียนแบบวิธีการลงทุนเพียงอย่างเดียว) พึงระลึกไว้เสมอว่านักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจะหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์วิธีการลงทุนของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จคนอื่นๆ นั่นเป็นเพราะนักลงทุนเหล่านั้นให้การยอมรับความแตกต่างของแต่ละวิธีการลงทุนนั่นเอง

บริหารตามสไตล์ที่เหมาะสม

การลงทุนในรูปแบบต่างๆมีแนวทางที่จะประสบความสำเร็จได้แตกต่างกันไป นักลงทุนควรทำความเข้าใจกับการลงทุนในรูปแบบต่างๆให้ถ่องแท้ รวมถึงการปรับแนวคิด ทัศนะคติ ปรัชญา และวิธีการลงทุนให้เหมาะสมกับรูปแบบที่เลือก เช่น นักลงทุนแบบตามกระแสจำเป็นต้องมีการตัดสินใจที่เด็ดขาด กล้าที่จะตามกระแส ขายเพื่อเก็บกำไรและตัดขาดทุน (Chase up, Lock-in-profit and Stop loss) เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ในทางตรงกันข้ามนักลงทุนแบบสวนกระแสจะต้องทำการศึกษาบริษัทที่ลงทุนให้ลึกซึ้ง เพิกเฉยต่อผลตอบแทนในระยะสั้นเพื่อเป้าหมายการลงทุนในระยะยาว รวมถึงต้องมีความมั่นคงเพียงพอที่จะต่อต้านความเห็นที่ขัดแย้งของนักลงทุนส่วนใหญ่และผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนต่างๆ จนกว่าการลงทุนจะให้ผลกำไรตามที่ตั้งเป้าไว้ เป็นต้น

ทบทวนและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเมื่อจำเป็น

นักลงทุนควรหมั่นทบทวนการลงทุนของตนเองและยอมรับข้อผิดพลาดเพื่อปรับปรุงแก้ไขการลงทุนให้ดียิ่งขึ้น ในบางครั้งรูปแบบการลงทุนที่เลือกอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุน การเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนอาจเป็นทางออกที่ดี อย่างไรก็ดีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนบ่อยครั้งจนเกินไป หรือการปรับเปลี่ยนเพียงเพราะผลขาดทุนในระยะสั้นอาจทำให้เสียวินัยการลงทุนในระยะยาวได้ พึงระลึกไว้เสมอว่าการลงทุนแต่ละรูปแบบต่างมีช่วงเวลาที่เหมาะสมของตัวเอง (เช่น จากการศึกษาเชิงวิชาการระบุว่า การลงทุนแบบเน้นการเติบโต และเน้นคุณค่าให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป) การปรับเปลี่ยนรูปแบบบ่อยครั้งอาจทำให้นักลงทุนประสบแต่ช่วงเวลาที่เลวร้ายได้

การลงทุนในหุ้นยังมีรูปแบบอื่นๆและรายละเอียดปลีกย่อยที่ผู้เขียนยังไม่ได้นำเสนออยู่อีกมากมาย นักลงทุนที่สนใจอาจศึกษาเพิ่มเติมได้จากงานเขียนที่เกี่ยวข้องทั่วไป สุดท้ายนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวคิดและข้อเสนอแนะต่างๆที่นำเสนอมาตลอด 4 ตอนที่ผ่านมาจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนที่สนใจบ้างตามสมควร